September 18, 2016

ภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดก



โดย  วีรพงษ์ รามางกูร
       อดีตรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
       ในคณะรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย 





(ที่มา:  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 18  กันยายน 2557)

           ประเด็นข่าวเศรษฐกิจที่เป็นข่าวใหญ่ที่สวนทางกันก็คือข่าวการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเรา  ที่เกรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะเลื่อนไหลเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งๆ ที่เกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด กับข่าวที่กระทรวงการคลังจะขึ้นภาษีหลายรายการ  ที่สำคัญคือภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก



ดูตัวเลขหลักสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก  ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การลงทุน เสถียรภาพของรัฐบาล ภาวะการณ์ทางการเมือง  ปฏิกิริยาของมหาอำนาจซึ่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้าส่งออกสินค้าบริการและการท่องเที่ยวของไทย   ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะบ่งบอกว่าเศรษฐกิจของเราจะฟื้นตัว   ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจของเราใช้กำลังการผลิตเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การลงทุนใหม่จึงไม่น่าจะมีที่จะเพิ่มขึ้นก็คงเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง ของทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทยกำลังเลื่อนไหลลงตามวัฏจักรระยะยาว  คนไทยมองไม่ออก  คิดว่าเป็นเรื่องระยะสั้น ที่แปลกก็คือข่าวว่าจะมีการขึ้นภาษี และเก็บภาษีชนิดใหม่ที่ไม่เคยเก็บมาก่อน อัตราภาษีที่จะขึ้นคือภาษีทรัพย์สิน คงจะหมายถึงภาษี

โรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ รถยนต์นั่ง ส่วนทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารทางการเงิน เช่น พันธบัตร หุ้นสามัญ หุ้นกู้ ส่วนทองคำเพชรนิลจินดา หรือทรัพย์สินในต่างประเทศไม่ได้ยินข่าวว่าจะถูกเก็บภาษีจากทรัพย์สินนั้น แต่รายได้จากทรัพย์สินทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล ล้วนแต่ถูกเก็บภาษีในรูปภาษีเงินได้อยู่แล้ว ยกเว้นกำไรจากส่วนต่างของการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์

ฟังดูที่ยกเรื่องการขึ้นอัตราภาษีทรัพย์สินซึ่งคงจะเป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียนอันได้แก่
อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เรือกลไฟ จุดมุ่งหมายคงไม่ใช่เพื่อรายได้ เพราะในปีแรกๆ คงจะเก็บไม่ได้เท่าไหร่
เพราะกว่าทางการจะเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเจ้าของทรัพย์สินรู้ว่าตนต้องเตรียมเงินทองมาเสียภาษีเพิ่ม ก็คงต้องใช้เวลา ที่คาดการณ์ว่าจะได้ภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านโดยเฉลี่ยนั้น ในปีแรกๆ คงได้น้อยกว่านี้มาก

วัตถุประสงค์หลักคงจะเป็นเรื่องการหาคะแนนนิยมของรัฐบาลจากคนชั้นกลางและคนชั้นล่างมากกว่าเพราะมีบทยกเว้นถึง 50 ล้านต่อทายาทผู้รับมรดกแต่ละคน ก็คงจะมีมรดกของภาษีไม่กี่ครอบครัวที่เข้าข่ายนี้ ภาษีมรดกจึงเป็นภาษีที่เก็บจากเศรษฐีเป็นหลัก

ส่วนที่คิดว่าจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็เห็นจะไม่จริงกลับจะสร้างความไม่เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างคนรวยด้วยกันที่ถือทรัพย์สินที่มีรูปแบบต่างกันคือผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ กับที่ถือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น เงินฝาก หุ้นกู้ พันธบัตร หุ้นสามัญ ตราสารของกองทุนต่างๆ รวมทั้งทองคำ เพชรนิลจินดา และอื่นๆ เพราะมีปัญหาในการจัดเก็บและความเหมาะสม

เคยมีความคิดจะเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่หรือจะเรียกภาษีชนิดนี้เป็นอย่างอื่น
โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บให้ท้องถิ่นโดยคิดค่าใช้จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์  เพราะประสิทธิภาพของท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินมีต่ำมาก แต่ในที่สุดความคิดนี้ก็ล้มเลิกไปเพราะท้องถิ่นไม่ยอม

หากทำเช่นนั้นก็ขัดกับหลักการที่เราอยากจะให้ผู้คนมีความสามารถรักษาทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลานต่อไปการเก็บภาษีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือภาษีมรดกในอัตราสูง
จนผู้ที่ถือครองไม่มีความสามารถที่จะเสียภาษีอาจจะถูกบังคับขายทอดตลาด
ก็จะเท่ากับขัดหลักการที่เราอยากจะให้ประชาชนทุกชนชั้นสามารถมีกรรมสิทธิ์ในเคหสถานบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาเป็นของตนเอง หากกรมสรรพากรต้องเข้ามาใช้กฎหมายบังคับขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ คงจะเป็นภาพที่ไม่สวยงามนักสำหรับสังคมไทย
และคงจะมีปัญหามากเพราะข้าราชการคงไม่ชำนาญในการซื้อขายที่ดิน

ในประเทศที่เก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่แพงๆจะทำให้คนจน  คนชั้นกลาง และคนรวยไม่อยู่ปะปนกันเหมือนกรุงเทพฯ เชียงใหม่และเมืองใหญ่อื่นๆ  เพราะคนจนไม่มีเงินเสียภาษีจะถูกบังคับขายก่อน ต่อมาก็จะเป็นคนชั้นกลาง   ในที่สุดคนในชนชั้นที่ต่างกันก็ต้องแยกกันอยู่ในพื้นที่ที่ต่างกัน   ความตึงเครียดระหว่างคนรวยกับคนจนก็จะเกิดขึ้น ปัจจุบันเรายังไม่มีปัญหานี้รุนแรงเหมือนต่างประเทศ   แต่ถ้ามีการเก็บภาษีทรัพย์สินหรือภาษีมรดกในอัตราสูง   ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้น

ภาษีเป็นเครื่องมือที่ลดช่องว่างของคุณภาพชีวิตที่เลวที่สุด  หรือมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด ดังนั้น หน้าที่ของภาษีควรมีอย่างเดียวคือการหารายได้ให้รัฐบาล  เพื่อรัฐบาลจะได้นำรายได้จากภาษีอากรเหล่านั้นไปจัดบริการสาธารณะ เพื่อลดช่องว่างคุณภาพชีวิต  เครื่องมือลดช่องว่างของคุณภาพชีวิตในสังคมคือโครงการบริการต่างๆของรัฐ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอัตราภาษีก้าวหน้าหรือProgressive
ที่เคยคิดว่าจะเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่าง ในทางปฏิบัติกลับเป็นภาษีที่ถดถอยหรือ Regressive  เพราะรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากว่าร้อยละ 80 เก็บจากผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนและค่าจ้าง ซึ่งไม่ใช้รายได้ของคนรวย รายได้ของคนรวยเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าและอื่นๆ รวมกันแล้วมีสัดส่วนประมาณไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

หลักภาษีอากรสมัยใหม่จึงเปลี่ยนไป กล่าวคือ ภาษีไม่ควรกระทบการตัดสินใจของตลาด การจัดสรรทรัพยากรในประเทศ ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพควรเป็นไปตามพลังของกลไกตลาด

ภาษีอากรไม่ควรเป็นอุปสรรคในการแข่งขันในเวทีการค้าและการดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศดังนั้นผู้ส่งออกก็ดี  ผู้ผลิตในทุกขั้นตอนของการผลิตก็ดี ไม่ควรต้องรับภาระภาษี   เพราะเป็นผู้ให้กับสังคม

เงินออมหรือเงินที่หักค่าใช้จ่ายในการบริโภคมีประโยชน์และเป็นของจำเป็นเพื่อนำไปใช้จ่ายในการลงทุนถ้าผู้ออมไม่ใช่ผู้ลงทุน  ผู้ลงทุนก็สามารถระดมเงินออมเหล่านี้ไปลงทุนผ่านสถาบันการเงินและตลาดทุนได้ ดังนั้น   ภาษีจึงไม่ควรเป็นอุปสรรคหรือทำให้แรงจูงใจในการออมลดลง เงินออมของภาคครัวเรือนจึงถูกหักออกจากฐานภาษี   เช่น เบี้ยประกันชีวิต การลงทุนในตราสารหนี้   เครื่องมือในการออมระยะยาวทุกชนิดจึงถูกหักออกจากฐานภาษีเงินได้
เป็นต้น

เนื่องจากผู้มีเงินได้เป็นผู้ให้กับสังคม   ยิ่งมีรายได้มากก็หมายความว่าเป็นผู้ให้กับสังคมมาก ผู้ที่เอาจากสังคมคือผู้บริโภค  ฐานภาษีที่สำคัญจึงไม่ควรเป็นเงินได้จากการนำเข้าส่งออกและทรัพย์สิน แต่ควรจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภค ขณะเดียวกัน เงินได้ในส่วนที่เป็นเงินออมในรูปแบบต่างๆ ควรหักออกจากฐานภาษี

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการยกเลิกภาษีการค้า ลดภาษีศุลกากรลงจนอัตราภาษีเข้าใกล้ศูนย์ ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา แล้วนำเอาภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้

สําหรับภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่เก็บจากผู้บริโภคเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยวัตถุประสงค์พิเศษ เช่นภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นตัวแทนภาษีจากการใช้ถนนหนทางหรือที่เรียกว่า road tax ตามหลักการผู้ใช้คือผู้จ่าย ควรเก็บให้ได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนหนทาง ทั้งที่เป็นของส่วนกลางและของท้องถิ่น หลักการนี้เสียไปเมื่อมีการนำเอาแก๊สธรรมชาติมาใช้กับรถยนต์แทนการใช้น้ำมันชนิดต่างๆ อีกทั้งหลักการนี้ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว

ส่วนภาษีสรรพสามิตอื่นๆ ส่วนมากก็เพื่อลดการบริโภคสินค้าที่มีโทษต่อร่างกาย เช่น บุหรี่ สุรา เบียร์ หรือลดการใช้จ่ายที่สังคมเห็นว่าเป็นการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย รวมแล้วมีประมาณ 20
รายการ

มรดกนั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการออมของเจ้าของมรดก โดยที่การออมควรจะหักออกจากฐานภาษี ดังนั้น มรดกจึงไม่ควรเสียภาษี ควรไปเก็บภาษีเมื่อตอนผู้รับมรดกจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่เป็นมรดก ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ยกย่องลูกหลานที่สามารถบำรุงรักษามรดกของพ่อแม่ปู่ย่าตายายไว้ได้แทนที่จะขายกินภาษีมรดกบางประเทศที่เคยจัดเก็บก็เพิ่งยกเลิกไปก็มี เช่น สหรัฐอเมริกา บางประเทศก็ไม่เก็บ เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น

เมื่อทรัพย์สินอย่างอื่นไม่มีการเก็บภาษีเป็นรายปี การจะเก็บภาษีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ในอัตราที่สูงเป็นรายปี นอกจะไม่เป็นธรรมแล้ว ยังจะทำให้คนชั้นกลางถือครองสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ได้ยากยิ่งขึ้น สำหรับเศรษฐีแล้วมักจะไม่ถือกรรมสิทธิ์โดยตรง แต่จะตั้งนิติบุคคลเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน พวกที่ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยตรงล้วนเป็นคนชั้นกลางทั้งสิ้น ภาษีที่มีปัญหาในการจัดเก็บเหล่านี้ไม่คุ้มที่จะจัดเก็บ


ความจริงภาษีมูลค่าเพิ่มของเรายังมีอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก และเป็นภาษีที่มีฐานภาษีที่ใหญ่และครอบคลุมมากที่สุด ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตัวเดียวเพียง 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ต้องขึ้นภาษีอย่างอื่นแล้ว

การขึ้นภาษีอะไรก็เสียแต้มทางการเมืองทั้งนั้น
อย่าคิดว่าจะได้แต้ม




No comments:

Post a Comment