October 14, 2016

ความเสี่ยง

 โดย  ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
        ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารนโยบาย/การวางแผน
        อดีตรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
        ในคณะรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย
        

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์  
         วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 15:00:45 น.


บทความนี้ มีคุณค่า จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาของสาธารณะ 
ขอขอบพระคุณ ท่านผู้เขียนบทความ และหนังสือพิมพ์มติชน เป็นอย่างสูง 


http://www.matichon.co.th/online/2014/09/14098809291409880951l.jpg


มนุษย์เราทุกคนต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ตลอดเวลา เป็นต้นว่า ความเสี่ยงต่อร่างกายและทรัพย์สิน ความเสี่ยงต่อเกียรติยศชื่อเสียง ความเสี่ยงต่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน ความเสี่ยงต่อความมั่นคงของครอบครัว ความเสี่ยงต่ออิสรภาพและเสรีภาพ



ความเสี่ยงที่ว่าเรามักจะหมายถึงความเสี่ยงที่จะสูญเสีย ความเสี่ยงที่จะเสียหาย ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้ามีโอกาสที่จะร่ำรวยขึ้น สุขสบายขึ้น หน้าที่การงานดีขึ้น เรามักจะไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยงแต่จะถือว่าเป็นโอกาสมากกว่า

การเข้าไปเล่นการพนันก็ดี การเสียเงินแทงหวยก็ดี ซื้อลอตเตอรี่ก็ดี กลับเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นการเสี่ยงโชค ทั้งๆ ที่โอกาสเสียเงินทองที่ลงไปมากกว่าโอกาสที่จะมีโชคได้เงินจากการพนันหรือการ ซื้อหวยหรือซื้อลอตเตอรี่

ความเสี่ยงที่ผู้คนส่วนใหญ่เกรงกลัวและ พยายามหลีกเลี่ยง เพราะถ้าเกิดความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นย่อมก่อให้เกิดความเสียหายความเจ็บปวด ทั้งทางร่างกาย และจิตใจกับตนเองกับครอบครัว ญาติมิตรทั้งปวงทั้งนั้น บางครั้งก็ต้องยอมจ่ายเงิน จ่ายทอง หรือปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงหรือขจัดความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ออกไป ธุรกิจประกันความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ จึงเกิดขึ้นและรุ่งเรืองมาจนบัดนี้

ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะคน ก็อาจจะหลีกเลี่ยงหรือจ่ายเงินทองหรือปฏิบัติตนเพื่อลดหรือขจัดความเสี่ยง เหล่านั้นไปได้ ในขณะเดียวกันความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้อาจจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันและอาจจะเป็นเหตุผลของกันและกันได้


ภาพประกอบเรื่องจากอินเทอร์เน็ต  (ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ)
แต่มีความเสี่ยงอีกอันหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงของสังคมและ ประเทศชาติ ซึ่งอาจจะอยู่เหนือการควบคุมของสังคมและคนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นความเสี่ยงที่มีต้นทุนสูงกว่าและน่ากลัวกว่าความเสี่ยงใดๆ ความเสี่ยงเช่นว่านั้นมีศัพท์ทางวิชาการว่า "ความเสี่ยงทางการเมือง" หรือ "political risk"


"ความเสี่ยง" ทางการเมืองนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นบ่อเกิดของความเสี่ยงต่างๆ 5-6 ประการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้ทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นความเสี่ยงที่เราแต่ละคนทำอะไรเพื่อป้องกันความเสี่ยงเช่นว่านั้นไม่ได้ ต้องยอมรับสภาพไป

ความเสี่ยงทางการเมือง ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าความมั่นคงในเรื่องต่างๆ ลดลง หรือไม่มีความมั่นคงเลยก็ได้ หากตนมีความคิดที่แตกต่าง หรือตนประพฤติ ปฏิบัติ พูดจา แสดงออก ในทางที่ขัดแย้งกับกระแสทางการเมือง หรือกับผู้มีอำนาจทางการเมือง

ระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยขึ้น อยู่กับคนคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว หรือคนส่วนน้อย ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกในหมู่ผู้คนที่ไม่มีส่วนในการใช้อำนาจนั้นว่าตน กำลังผจญอยู่กับความเสี่ยงทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันถ้าการเมืองเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดมีส่วนในการปกครอง ไม่ว่าจะในฐานะเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อยก็ตาม ความเสี่ยงทางการเมืองในความรู้สึกของผู้คนในสังคมก็จะลดลง หรือหมดไป เพราะ "ความไม่แน่นอนทางการเมือง" หรือ "political uncertainty" ก็จะลดลงหรือหมดไปด้วย

ถ้าความไม่แน่นอนทางการเมืองมีสูง ความเสี่ยงของผู้คนในสังคมก็จะมีสูง ถ้าการเมืองมีความแน่นอนหรือมีเสถียรภาพสูง ความเสี่ยงทางการเมืองก็จะต่ำลง ความแน่นอนทางการเมืองหมายถึงความแน่นอนของระบบการเมืองการปกครอง ไม่ได้หมายถึงความแน่นอนหรือเสถียรภาพของรัฐบาลเท่านั้น

ดังที่กล่าว มาแล้ว ความแน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของความเสี่ยงทางการเมืองนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่าระบอบหรือสภาพการเมืองนั้น มีผู้ที่สามารถมีส่วนร่วมหรือมีส่วนในการตัดสินใจในโชคชะตาของประเทศหรือ สังคมนั้นเพียงใด ถ้าขึ้นอยู่กับคนคนเดียวความเสี่ยงทางการเมืองก็สูง ถ้ามีคนเข้าไปร่วมมากความเสี่ยงก็น้อยลง ถ้าคนในสังคมทุกคนมีส่วนร่วมความเสี่ยงทางการเมืองหรือความไม่แน่นอนทางการ เมืองก็จะมีน้อยที่สุด

ความไม่แน่นอนทางการเมือง political uncertainty และ political risk มีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของ "ความมั่นใจ" หรือ "confidence" ของสังคมนั้นๆ การติดต่อค้าขายการลงทุนระยะยาว ทั้งในตลาดการเงิน ตลาดทุน การลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าและบริการ "ความมั่นใจ" ในระบบเศรษฐกิจนั้นๆ ย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และมักจะตีราคาออกมาเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่ง รวมทั้งค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงก็จะมีความเสี่ยงทางการเมืองนับรวม เข้าไปด้วยเสมอ

ในสังคมที่มีระบอบการเมืองการปกครองแบบอนารยะ มีกฎระเบียบแบบแผนที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก หรือจินตนาการหรือ "มโน" ของคนคนเดียวที่มีอำนาจปกครอง แม้จะอ้างว่ามีที่ปรึกษามากมายหลายคณะ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องประกันรับรองความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงทางการเมือง


การแสดงอารมณ์ การแสดงความรู้สึก หรือจินตนาการที่ปราศจากข้อมูลหลักฐาน และที่สำคัญคือตรรกะของคนคนเดียว ความพยายามยัดเยียดสิ่งเหล่านั้นให้กับสังคมย่อมทำให้เกิดความรู้สึกว่า เรากำลังมีความเสี่ยงทางการเมืองสูง แม้จะไม่มีเสียงคัดค้านเพราะสังคมกำลังอยู่ใน "ความเงียบ" ก็ตาม ซึ่งความเงียบที่แท้จริงนั้นไม่มี


ภาพประกอบเรื่องจากอินเทอร์เน็ต  (ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ)
ระบอบการเมืองที่เป็นของ อารยชนกับระบอบการเมืองของอนารยชน ย่อมมีความแน่นอนและความไม่แน่นอนผิดกัน เพราะโลกในหลายศตวรรษที่ผ่านมาย่อมเคลื่อนย้ายไปข้างหน้า มีพลวัตและมุ่งสู่ความเป็นอารยะอย่างไม่หยุดยั้ง หากจะถอยหลังกลับไปสู่ระบอบอนารยะ ผู้คนย่อมคิดและหวังว่า "การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" หรือ "political changes" จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ไม่อย่างสันติก็อย่างรุนแรง

การเปลี่ยนถ่ายอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจการปกครองในขณะที่สังคมมีระบอบการปกครอง ที่มีความเสี่ยงทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ย่อมก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจะไม่เป็นไปอย่างสันติวิธี อาจจะเกิดความรุนแรง การเปลี่ยนถ่ายอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นที่เป็นไปโดยสันติวิธี

ทุกประเทศ ทุกสังคม การพัฒนาทางการเมืองย่อมต้องเดินไปข้างหน้า เหมือนกงล้อประวัติศาสตร์ย่อมไม่หมุนถอยหลัง มีแต่จะหมุนไปข้างหน้า กงล้อประวัติศาสตร์ของจีนก็หมุนไปข้างหน้า แต่ยังอยู่ข้างหลังเรา กงล้อของเราจะหยุดหมุนหรือหมุนกลับไปรอกงล้อของจีนย่อมเป็นไปไม่ได้ ใครคิดอย่างนั้นก็ผิด


ภาพประกอบเรื่องจากอินเทอร์เน็ต  (ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ)
การมีสภานิติบัญญัติ การมีคณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่ตุลาการที่มีคนคนเดียวเป็นผู้แต่งตั้ง ก็เป็นการเมืองการปกครองโดยคนคนเดียว เพียงแต่เป็นการจัดหาไม้ประดับมาตกแต่งให้สวยงามให้น่าดูเท่านั้น หรือแม้แต่จะมีการเลือกตั้งแต่เป็นการเลือกตั้งบนพื้นฐานของกติกาที่ไม่เสรี และไม่เป็นธรรม สิทธิการเลือกตั้งมิได้เป็นไปอย่างเท่าเทียมกันของประชาชนทั่วไป หรือที่ฝรั่งเรียกว่า "universal suffrage" ความเสี่ยงทางการเมือง หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองก็จะไม่ลดลง แต่จะเพิ่มขึ้น

สังคมทุกสังคมมีแนวโน้มที่จะมีแรงดึงกลับไปสู่สภาพปกติที่พัฒนาไปข้างหน้า การหยุดชะงักหรือการดึงให้ย้อนกลับไปข้างหลัง หรือการดึงออกจากสภาพปกติที่ควรจะเป็น สภาพการณ์อย่างนี้จะทำให้มีแรงดึงกลับ แรงดึงกลับจะเบาหรือหนัก เป็นไปอย่างสันติหรือเป็นไปอย่างรุนแรง อย่างรวดเร็วหรือค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับการดึงกลับไปสู่สภาวะไม่ปกติจะเป็นไปด้วยสันติวิธีหรือเป็นไป ด้วยอำนาจปากกระบอกปืน เป็นไปด้วยเหตุผลหรือการข่มขู่ เป็นระยะเวลาอันสั้นหรือยาวนาน เป็นไปตามการคาดหวังของสังคมหรือขัดต่อความคาดหวังของประชาชน การให้สัญญามากมายทุกๆ สัปดาห์ จะสามารถทำตามสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นความเสี่ยงทางการเมือง ดังคำพูดของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ว่า

ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูด หลังพูดคำพูดเป็นนายของเรา




No comments: