โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
อดีตรองนายกรัฐมนตรี
/รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
ในคณะรัฐบาลในอดีต
หลายยุคหลายสมัย
มติชนออนไลน์
วันที่ 21 กันยายน 2560
13:00 น.
การเมืองสำหรับประเทศที่รายได้ปานกลางนั้น ระบอบเผด็จการทหารมักจะอยู่ได้ไม่นาน ต่างกับประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศในแอฟริกา หรือประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรปตะวันตก หรือแม้แต่ยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เป็นระบอบการปกครองที่ถาวรก็สามารถทำได้ แม้แต่ประเทศอินเดียที่ระดับการพัฒนายังต่ำ ก็สามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยของตนไว้ได้ ในขณะที่ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน คนเชื้อชาติเดียวกันพูดภาษาเดียวกัน ฮินดีกับอูรดู เพียงแค่คนละศาสนาก็ไม่สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้
ประเทศหนึ่งจะเป็นประเทศที่สามารถสถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบตะวันตก หรือประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ หรือเผด็จการโดยพรรคการเมืองหรือเผด็จการทหาร ชนชั้นนำซึ่งมีอยู่เพียงหยิบมือเดียวไม่กี่ตระกูลมีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้คุมอำนาจทหาร เป็นผู้กุมความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝูงชนในเมืองที่มีความคิดคับแคบ มองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระยะสั้นของชนชั้นตัวเองเป็นหลัก ขณะเดียวกันในระดับโลก
ผู้ที่กุมกระแสความคิดทางการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ก็คือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทางทหาร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 ประเทศ คือ ประเทศแรกคือสหรัฐอเมริกากับบริวารยุโรปตะวันตก ประเทศที่สองก็รัสเซียกับบริวารยุโรปตะวันออก จีนเป็นประเทศที่สามและพยายามสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำประเทศเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การเกาะกลุ่มดังกล่าวคือการก่อตั้งองค์กรความมั่นคงร่วมกันในช่วงสงครามเย็น เช่น นาฟต้า นาโต อาเซียน แต่ตอนนี้ก็ยังมีความหมายอยู่
หลังสงครามเย็น กระแสโลกาภิวัตน์และกระแสประชาธิปไตยมีสูงขึ้น มีการลุกฮือขึ้นของขบวนการนักศึกษาในประเทศไทยเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร แม้ว่าจะถูกกวาดล้างปราบปราม เพราะมีการแทรกแซงจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2519 แต่ก็สร้างกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยให้แพร่กระจายไปประเทศในอาเซียนและประเทศอื่นๆ
หลังจากขบวนการคอมมิวนิสต์ชนะสงครามในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา กระแสความกลัวทฤษฎีโดมิโนที่สร้างขึ้นโดยอเมริกาก็แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่ที่ไม่หวั่นไหวต่อทฤษฎีโดมิโนที่สหรัฐสร้างขึ้นก็คือ พม่า บังกลาเทศ อินเดีย รวมทั้งปากีสถานและประเทศเล็กๆ ในเชิงเขาหิมาลัย เช่น ภูฏานและเนปาล
ความกลัวทฤษฎีโดมิโนของอเมริกาที่บอกว่า คอมนิวนิสต์จะกรีธาทัพเข้ายึดประเทศไทยและประเทศในอาเซียน โดยใช้กองทัพปลดแอกของเวียดนามเข้ายึดภาคอีสาน แล้วจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว “provisional government” ขึ้นสู้รบกับกรุงเทพฯ ทำนองเดียวกันกับการยึดเวียดนามเหนือจัดตั้งรัฐบาลที่ฮานอย แล้วทำสงครามประชาชนกับเวียดนามใต้ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่ไซ่ง่อน แต่ความคิดที่จะเอากองทัพปลดแอกเวียดนามมายึดอีสานได้รับการคัดค้านโดย “ลุงคำตัน” ผู้บัญชาการ ท.ป.ท. (กองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย) จนในที่สุด “ลุงคำตัน” ถูกขับออกจากพรรคโดยชาตินิยมเวียดนามและรัสเซียในพรรค ต้องออกไปลี้ภัยในปักกิ่งและไปเสียชีวิตที่นั่น แต่เวียดนามดำเนินการในกัมพูชาและถูกจีนกรีธาทัพมาตีทางเหนือ โดยสงครามสั่งสอน
ในภาวะนั้น การต่อสู้ทางทหารยังแหลมคม การต่อสู้ทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยกับเผด็จการจึงกลายเป็นเรื่องรอง การปกครองโดยเผด็จการในประเทศไทยจึงสามารถดำรงอยู่ได้นาน ฟิลิปปินส์เคยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีอย่างเดียวกับพม่า ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ก็แก้รัฐธรรมนูญให้อำนาจตนเองสถาปนาระบอบเผด็จการ แต่เป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งโดยการสนับสนุนโดยสหรัฐ เช่นเดียวกับ นายพลซูฮาร์โต แห่งอินโดนีเซีย ในยุคสงครามเย็นจึงเป็นยุคเผด็จการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนรวมทั้งประเทศจีน ยกเว้นอินเดียและบังกลาเทศ
ขบวนการประชาธิปไตยในประเทศอาเซียนเก่าน่าจะเป็นขาลง เริ่มจากเกิดรัฐประหารโดยกองทัพบกไทย โดยอ้างว่า เพื่อเข้ามาแก้ไขความแตกแยกระหว่างชนในชาติ ซึ่งความจริงความแตกแยกนั้นตนเป็นคนสร้างขึ้นเอง โดยการไม่ยอมรับคำสั่งจากรัฐบาลพร้อมๆ กับร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์สร้างการชุมนุม กรุยทางให้เกิดเงื่อนไขให้ทหารทำการปฏิวัติ โดยอ้างว่า จะอยู่แก้ไขปัญหาชั่วคราว จนบัดนี้ล่วงเลยกว่า 3 ปีแล้วก็ยังอยู่และกำลังวางแผนกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะอยู่ยาวต่อไปอีกหลังจากเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น มีความสำคัญกว่าตัวบทในรัฐธรรมนูญ
ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงวัฏจักรประชาธิปไตยตกต่ำตามวัฏจักรเศรษฐกิจ กระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตกต่ำ ผู้นำประชาธิปไตยจากพรรคการเมืองฝีปากดีได้เข้าร่วมขบวนการเผด็จการทหาร ต่อต้านระบอบรัฐสภา เริ่มจากการปฏิเสธการเลือกตั้งซึ่งเป็นภาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การประกาศคว่ำบาตรประชาธิปไตยเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนบัดนี้ก็ยังมีท่าทีสนับสนุนให้หัวหน้าคณะรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้งในปี 2561 โดยการเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ของผู้ใหญ่ทางการเมืองแนวทางห้อยโหนบางคน
วัฏจักรขาลงของประชาธิปไตยของไทยมักจะสอดคล้องกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เมื่อเศรษฐกิจเป็นวัฏจักรขาลงก็มักจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง จากที่เห็นในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 2520 ประชาธิปไตยก็สิ้นสุดลงเป็นเวลายาวนานจนจบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขาลง ในปี 2529 น้ำมันมีราคาลดลงอัตราดอกเบี้ยลดลง ก็สิ้นสุดยุครัฐบาล
“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือจะเรียกว่า ยุครัฐบาลแห่งชาติก็ไม่ผิด เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านมีแต่พรรคที่รอเข้าร่วมกับรัฐบาล
No comments:
Post a Comment